เรียกร้องให้ คสช. เลิกโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

  • 0 replies
  • 5429 views
มีข่าวกระบี่วันนี้มาฝาก เกี่ยวกับเรื่อง การคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยกลุ่มประชาชนในนามเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน จ.กระบี่ รวมตัวร้อง คสช.ยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาดกำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ชี้ทำลายวิถีชีวิตชาวประมง และเศรษฐกิจการท่องเที่ยว

ซึ่งเมื่อเวลา 13.30 น. ของวันที่ 12 มิ.ย. 57 นี้ ได้มีกลุ่มประชาชนในนามเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน ประกอบด้วย ชุมชนเกาะศรีบอยา ต.คลองรั้ว ชุมชนปกาสัย และกลุ่มคนรักลันตา จ.กระบี่ นำโดยนายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา พร้อมถือป้ายข้อความคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ร้องบอกข่าวกระบี่ ให้เดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณลานอเนกประสงค์สวนสาธารณะธาราเทศบาลเมืองกระบี่ เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อขอให้มีการยกเลิกโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนถ่ายหิน และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาดกำลังผลิต 800 เมกะวัตต์

ต่อมา พ.อ.พงษ์เทพ ประกอบศุขราษฎร์ รองผอ.กอ.รมน.จ.กระบี่ พ.อ.จรูญ จตุรงค์ ผบ.ร.15 พัน 1 พ.ต.อ.พฤทธิพงศ์ นุชนาถ ผกก.สภ.เมืองกระบี่ เดินทางมารับหนังสือ พร้อมเชิญตัวแทนหารือทำความเข้าใจ โดยทางเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน ขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ พิจารณายกเลิกโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจากแผนผลิตพลังงานไฟฟ้า ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้คือ



1. บริเวณท่าเรือ และเส้นทางขนถ่ายถ่านหินผ่านพื้นที่ทางทะเลค่อนข้างยาว และผ่านตามเกาะที่เป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดกระบี่ เช่น เกาะพีพี ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบนิเวศโดยรวม อันจะส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตอาหาร และการท่องเที่ยวซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของจังหวัดกระบี่โดยตรง

2. การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะก่อให้เกิดมลพิษหมุนวนตามกระแสลมทะเลฝั่งอันดามันซึ่งจะกระทบต่อ 3 จังหวัดสำคัญ คือ จังหวัดกระบี่ ภูเก็ต พังงา รวมทั้งการไหลเวียนของกระแสน้ำจะก่อให้เกิดการพัดพาของตะกอนถ่านหิน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้น้ำและชายฝั่งของทั้ง 3 จังหวัดด้วย

3. การเกิดขึ้นโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ มีผลกระทบโดยตรงต่อการทำลายวิถีชีวิตชาวประมง และเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลให้คนตกงานจากธุรกิจการประมงและการท่องเที่ยวนับแสนคน และยังส่งผลกระทบต่อรายรับของประเทศซึ่งธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นกิจการที่ทำรายได้หลักให้กับประเทศ

4. จังหวัดกระบี่มียุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดที่ชัดเจนโดยมีเป้าหมายที่จะทำให้กระบี่เป็นเมืองสีเขียว เป็นเมืองที่ปราศจากมลพิษอันตราย ซึ่งการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าถ่านหินมีความขัดแย้งต่อยุทธศาสตร์ของจังหวัดกระบี่โดยตรงดังที่ข่าวกระบี่ได้นำเสนอไปก่อนหน้านั้นแล้ว



และเพื่อสร้างทิศทางการพัฒนาความมั่นคงด้านพลังงานที่ถูกต้อง เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน จึงขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ถอดโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินออกจากแผนผลิตพลังงานไฟฟ้า PDP เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในพื้นที่ และหายนะที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม และชีวิตมนุษย์รวมทั้งระบบเศรษฐกิจ

หลังจากนั้นขอให้ระดมนักวิชาการทั้งประเทศ เพื่อจัดทำแผนพลังงานหมุนเวียนสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป ดังที่ปรากฏในหลายประเทศทั่วโลกที่ได้มีการเปลี่ยนทิศทางด้านพลังงาน จากพลังงานสกปรกมาสู่พลังงานหมุนเวียน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนี้จะสร้างคุณูปการต่อการวางรากฐานความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศในอนาคตข้างหน้าต่อไป ทาง รอง ผอ.กอ.รมน.รับเรื่อง และจะส่งต่อไปยังหัวหน้าคณะ คสช.ต่อไป และทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้แยกกันกลับด้วยความสงบ โดยหวังว่าโครงการคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้านี้จะทำสำเร็จเพื่อประโยชน์ของชาวกระบี่ต่อไป

ที่มาข่าว ผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9570000066080