ประวัติศาสตร์จังหวัด

  • 0 replies
  • 6860 views
ประวัติศาสตร์จังหวัด
« เมื่อ: มิถุนายน 17, 2014, 10:54:34 AM »
สำหรับประวัติศาสตร์จังหวัดกระบี่นั้น ไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่จากการค้นพบในหลายแหล่งข้อมูลให้ความคิดเห็นตรงกันหลายด้าน ซึ่งต้นกำเนิดของเมืองกระบี่ เริ่มจาก..

เป็นดินแดนบริเวณจังหวัดกระบี่ในยุคโบราณแห่งนี้ อิงจากหลักฐานการค้นพบเครื่องมือยุคหินเป็นจำนวนมาก ที่มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นว่าถิ่นนี้เคยมีมนุษย์อาศัยกันมานานแล้วเมื่อหลายพันหลายหมื่นปี โดยเครื่องมือหินที่พบบนแหลมมลายูทั้งหมด ปรากฏว่าเป็นสิ่งที่ทำด้วยน้ำมือของมนุษย์ ส่วนมากที่พบจะเป็นขวานหิน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ขวานฟ้า

จังหวัดกระบี่มีพบทั่วไปทั้งอำเภอเมือง อำเภออ่าวลึก อำเภอคลองท่อม และนอกจากนี้แล้ว สิ่งที่น่าศึกษาอีกประการหนึ่ง คือ ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ อย่างที่ถ้ำผีหัวโตของอำเภออ่าวลึก หรือมีภาพเขียนสีในถ้ำไวกิ้งบนเกาะพีพี  โดยที่น่าสนใจตรงกันคือ ภาพที่ถ้ำผีหัวโต ซึ่งมีทั้งรูปคน สัตว์และสิ่งของต่างๆ เป็นเพียงเส้นที่ขีดเป็นแขนขา และรูปมือที่ทาสีแล้วทาบลงไปบนพื้นผนัง บางภาพก็มีสภาพสมบูรณ์ทั้งภาพคน ภาพปลา ภาพนก

โดยรูปเขียนสีเหล่านี้ นอกจากจะบอกให้เราทราบลักษณะศิลปในสมัยแรกเริ่มในประเทศไทยแล้ว เรายังจะทราบชีวิตความเป็นอยู่ การอพยพ การย้ายถิ่นฐานและอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย อย่างเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างขวานฟ้ากับภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ น่าจะเป็นยุคสมัยเดียวกัน และเป็นที่เชื่อถือกันว่า มนุษย์ในสมัยยุคหินในบริเวณจังหวัดใกล้ทะเลนั้น มักจะมีการอาศัยอยู่บริเวณริมทะเลมากกว่า เพราะมีอาหารอุดมสมบูรณ์มากกว่าบนที่ดอนที่ไกลทะเลออกไป

และจากหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบเพิ่มเติมก็ได้สันนิษฐานว่า ดินแดนนี้แต่เดิม น่าจะเป็นเมืองบันไทยสมอ 1 ใน 12 เมืองนักษัตร ที่ใช้ตราลิงเป็นตราประจำเมือง ซึ่งเมืองแห่งนี้ขึ้นกับอาณาจักรนครศรีธรรมราช


ซึ่งมีข้อสังเกตุถึงชาติพันธุ์มนุษย์ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้มา ก่อนที่จะมีชาวอินเดียเข้ามาตั้งรกราก โดยดินแดนภาคใต้ของประเทศไทยตลอดแหลมมลายูก่อนที่จะมีอารยธรรมอื่นๆ เข้ามานั้น ได้เป็นที่อาศัยของมนุษย์ถึง 4 จำพวก คือ

- จำพวกที่ 1 เรียกว่า กาฮาซี พวกนี้ผิวเนื้อดำ ตาโปนขาว ผมหยิก ร่างกายสูง ใบหน้าบานๆ ฟันแหลม ชอบกินเนื้อสัตว์และเนื้อคน มีนิสัยดุร้ายมาก ซึ่งไทยเราเรียกว่า ยักษ์
- จำพวกที่ 2 เรียกว่า ซาไก ผมหยิก ผิวดำ ตาขาวโปน ริมผีปากหนา จำพวกนี้ไม่ดุร้าย อยู่กันแบบชุมนุม ทำพะเพิงเป็นที่อาศัย
- จำพวกที่ 3 เรียกว่า เซียมัง มีลักษณะคล้ายกันกับพวกซาไก แต่พวกนี้ชอบอยู่บนพื้นที่สูงๆ เช่นยอดเขาสูง
- จำพวกที่ 4 เรียกว่า อูรักลาโว้ย / อุรังลาโว้ย (Orang Laut) ชาวเล อาศัยอยู่ตามเกาะและชายทะเล มีเรือเป็นพาหนะเที่ยวเร่ร่อนอยู่ไม่เป็นที่


ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มที่สำคัญนี้ โดยเฉพาะ พวกอุรังลาโว้ย จะมีความเกี่ยวพันกับชาวมลายูและไทยอย่างลึกซึ้ง อีกกลุ่มหนึ่งคือ ซาไก ก็มีอยู่ประปรายตามพื้นที่ปาในจังหวัดทางใต้หลายจังหวัด เช่น ตรัง พังงา สตูล เลยไปจนถึงประเทศมาเลเซีย

จังหวัดกระบี่ ตั้งขั้นสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในอดีตเป็นเพียงแขวงหนึ่งอยู่ในอำนาจปกครองและบังคับบัญชาของเมืองนครศรีธรรมราช เรียกว่า แขวงเมืองปกาสัย โดยพระยาผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ให้ปลัดเมืองฯ มาตั้งค่ายทำเพนียดจับช้างในท้องถิ่นที่ตำบลปกาสัย และได้มีราษฎรจากเมืองนครศรีธรรมราช อพยพมาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินเพิ่มมากขึ้น พระปลัดเมืองฯ ได้ยกตำบลปกาสัยขั้นเป็น แขวงเมืองปกาสัย ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช


ประมาณปี พ.ศ. 2415 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองปกาสัย และพระราชทานนามว่า เมืองกระบี่ เมื่อได้ประกาศตั้งขึ้นเป็นเมืองแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งที่ทำการอยู่ที่ตำบลกระบี่ใหญ่ (บ้านตลาดเก่า) ในท้องที่อำเภอเมืองกระบี่ปัจจุบัน มีหลวงเทพเสนาเป็นเจ้าเมืองกระบี่คนแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2418 ได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกเมืองกระบี่ออกจากการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ

และในปี พ.ศ. 2443 สมัยพระยารัษฏานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้พิจารณาเห็นว่า ศาลากลางจังหวัดที่บ้านตลาดเก่านั้น ไม่สะดวกต่อการคมนาคม เพราะสมัยนั้นต้องอาศัยเรือเป็นพาหนะ จึงย้ายมาที่ตั้งเมืองไปอยู่ตำบลปากน้ำ ซึ่งอยู่ใกล้ปากอ่าวเป็นร่องน้ำลึก เรือใหญ่สามารถเข้าเทียบท่าได้สะดวกทำให้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดจนถึงปัจจุบันนี้