ราชบุรีโมเดล ต้นแบบเกษตร GAP ใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย

  • 0 replies
  • 4061 views
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมาย กรมวิชาการเกษตร เริ่มโครงการราชบุรีประชารัฐ ประสานงานร่วมกับเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง และกลุ่มเกษตรกรราชบุรี พร้อมตั้งคณะทำงานร่วมทุกภาคส่วน เพื่อสร้างต้นแบบเกษตรกรรมคุณภาพมาตรฐาน GAP ใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย ให้ความสำคัญกับเกษตรกร ผู้ผลิตอาหาร เพื่อประชากรโลก ตามแนวคิดขององค์การสหประชาชาติ ต้อนรับ วันอาหารโลก

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานที่ประชุม “โครงการราชบุรีประชารัฐ พืชผักและผลไม้ปลอดภัย นำไทยสู่ครัวโลก” มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานกับเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง และกลุ่มเกษตรกรราชบุรี ในการทำงานร่วมกัน พร้อมจัดตั้งคณะทำงานจากทุกภาคส่วน ภาครัฐจากกรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานเกษตร และอาหารแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ภาคเอกชนจากบริษัทผู้ผลิตสารฯ บริษัทรับซื้อผักผลไม้ และภาคประชาชน นำไปสู่การใช้โครงการราชบุรีประชารัฐเป็นต้นแบบในการจัดการพื้นที่อื่นต่อไป ตั้งเป้าเริ่มดำเนินงานภายในเดือนตุลาคมนี้

นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง เปิดเผยว่า “โครงการราชบุรีประชารัฐ พัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบของการผลิตผักและผลไม้ด้วยการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย รวมทั้งให้มีการศึกษาผลกระทบจากการปฏิบัติจริง หลังจากเกษตรกรได้รับคำแนะนำให้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี โดยใช้หลักการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องด้วยการตรวจสุขภาพของเกษตรในเขตจังหวัดราชบุรี ควบคู่ไปกับการตรวจสอบสารตกค้างในผลผลิตและสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน แล้วนำผลที่ได้มาวิเคราะห์ เปรียบเทียบความแตกต่าง และนำมาสรุปผล เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงและยืนยันว่าสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ ได้แก่ สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส ไม่ได้ส่งผลกระทบด้านลบ เนื่องจากกระแสข่าวเรื่องสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรกรตกต่ำ จนทำให้เกษตรกรขาดทุน เป็นหนี้สินจำนวนมาก และปัจจุบัน เกิดการกักตุนสารเคมี ทำให้ราคาพุ่งขึ้นหลายเท่าตัว ส่งผลต่อเศรษฐกิจ ภาพลักษณ์ของประเทศและการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมในระยะยาว

โครงการราชบุรีประชารัฐ พืชผักและผลไม้ปลอดภัย นำไทยสู่ครัวโลก สอดคล้องกับแนวคิดหลักขององค์การสหประชาชาติ ในการประกาศให้วันที่ 16 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันอาหารโลก” ในการยกระดับโภชนาการและมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชากรโลก ด้วยการปรับปรุงสมรรถนะการผลิตและการกระจายผลิตผลการเกษตร ส่งเสริมการพัฒนา ปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชาชน นำไปสู่การขจัดความหิวโหย หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ นั่นคือ การส่งเสริมการลงทุนในการเกษตร ถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร ส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และการผสานความร่วมมือจากส่วนต่าง ๆ ในการถ่ายทอดความรู้เชิงวิชาการ นำไปสู่การประยุกต์ปฏิบัติใช้ได้อย่างแท้จริง จะเห็นได้ว่า ส่วนสำคัญของแนวคิดคือ เกษตรกร อันเป็นกลจักรหลักในการผลิต สร้างอาหารมาเลี้ยงประชากรทั้งโลก นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาคมโลก

ที่มา https://www.kasetorganic.com/forum/index.php/topic,1519.0.html