ธุรกิจ ควรปรับ Mindset รับโจทย์ ท่องเที่ยว ที่ไม่เหมือนเดิม

  • 0 replies
  • 2196 views
ผ่านมากว่า 7-8 เดือนแล้ว ที่ทั่วโลกอยู่ในภาวะ “ปิดประเทศ” แม้ว่าหลายประเทศจะมีความพยายามในการคลายล็อกบ้างเป็นระยะ แต่ก็จะยังเป็นการ “เปิด” แบบมีข้อจำกัด และสำหรับชาวต่างชาติบางกลุ่มเท่านั้น

“ไฮซีซั่น” ปลายปียังไร้ต่างชาติ
แหล่งข่าวในธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่งให้ข้อมูลกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไปนั้นคงยังต้องรออีกนาน เพราะต้องรอวัคซีนออกสู่ตลาดในระดับที่ทั่วถึงระดับหนึ่งก่อน รวมทั้งต้องรอสายการบินต่าง ๆ ทยอยเปิดให้บริการเที่ยวบินปกติ (commercial flight)

นั่นหมายความว่า “ไฮซีซั่น” ปลายปีนี้ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยจะยังคงอยู่ในภาวะ “นิ่งสนิท” เหมือนในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ที่ผ่านมาของปีนี้ผู้ประกอบการทุกเซ็กเตอร์ที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติยังต้องทำใจรอกันต่อไป

ธุรกิจไม่กลับมาเหมือนเดิม
ที่สำคัญ ถึง ณ ขณะนี้ทุกฝ่ายไม่ว่าภาครัฐ หรือเอกชนก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า “ธุรกิจ” จะได้ฤกษ์กลับมาเมื่อไหร่กันแน่ กลางปี 2564 ปลายปี 2564 หรือต้องรอปี 2565 แต่ที่แน่นอนที่สุดคือ การกลับมาของธุรกิจท่องเที่ยวครั้งใหม่นี้จะไม่เหมือนเดิมแน่นอน หรือที่เรียกกันว่า ธุรกิจในยุค new normal

กล่าวคือ กว่าที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยเป็นจำนวน 30-40 ล้านคนนั้น คงใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปีแน่นอน และที่ชัดเจนคือในเบื้องต้นนี้ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาเดินทางก่อนส่วนใหญ่น่าจะเป็นกลุ่มคนมีกำลังซื้อสูงเป็นหลัก อาทิกลุ่มเดินทางเพื่อธุรกิจ, กลุ่มมารักษาพยาบาล, กลุ่มพำนักระยะยาว ฯลฯส่วนกลุ่มทัวร์ที่มากันเป็นจำนวนมากพักโรงแรม 3 ดาว น่าจะต้องรออีกนานเช่นกัน

“ที่ผ่านมา ประธานบอร์ด ททท. (ทศพร ศิริสัมพันธ์) ให้สัมภาษณ์ไว้ชัดเจนว่า ในช่วงปีสองปีนี้ กลยุทธ์ของประเทศไทยนับจากนี้จำเป็นต้องเปลี่ยนจากการทำการตลาด เพื่อดึงคนเข้ามาจำนวนมาก ๆ เป็นโฟกัสเฉพาะกลุ่ม ไม่เน้นจำนวนมาก โฟกัสกลุ่มคนที่มีกำลังจับจ่ายเป็นหลัก ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าธุรกิจท่องเที่ยวของไทยเราจะไม่กลับมาเหมือนเดิมแน่นอน” แหล่งข่าวรายหนึ่งให้ข้อมูล

แนะผู้ประกอบการปรับ Mindset

มุมมองดังกล่าวสอดรับกับแหล่งข่าวจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รายหนึ่งที่บอกว่า จากการคาดการณ์สถานการณ์ขณะนี้เชื่อว่า หากไม่มีการระบาดที่รุนแรงมากกว่าที่ผ่านมา บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั่วไปน่าจะกลับมาได้บ้างในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 เป็นต้นไป

จากคาดการณ์นี้มองว่าผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยต้องเผชิญกับภาวะ “วิกฤต” ครั้งนี้รวม ๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปีแน่นอน

“สิ่งหนึ่งที่อยากส่งสัญญาณถึงผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวทุกเซ็กเตอร์คือ ปรับวิธีคิด มุมมอง หรือ mindset ของตัวเองใหม่ว่า นับจากนี้เป็นต้นไปเราจะกลับมาทำธุรกิจแบบเดิม ๆ อีกต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะโครงสร้างนักท่องเที่ยวทั่วโลกเปลี่ยนไปหมดนักท่องเที่ยวจะไม่เดินทางเป็นกรุ๊ปใหญ่ ใครที่ลงทุนสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่คงต้องปรับวิธีการทำธุรกิจใหม่หรือลองมองหาโอกาสในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่”

รัฐไม่มีงบฯอุ้มให้ทุกคนรอด

พร้อมย้ำว่า ที่ผ่านมาแนวทางของกลุ่มเอกชนท่องเที่ยว คือ ขอให้รัฐช่วยเหลือด้วยการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ซึ่งหากรวมทุกซัพพลายเชนจะเห็นว่าคิดเป็นมูลค่ามหาศาล แต่ในความเป็นจริงคือ ด้วยธรรมชาติของธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่มูลค่าสินทรัพย์ค้ำประกันไม่ได้สูงนัก (ยกเว้นโรงแรม) บวกกับความไม่แน่นอนของธุรกิจ ทำให้สถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่ปลดล็อกเงื่อนไขการปล่อยกู้ให้ซึ่งก็เป็นปัญหาไก่กับไข่มาโดยตลอด

ขณะที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนใหญ่แจ้งความจำนงในการขอซอฟต์โลนว่า เพื่อนำไปประคับประคองธุรกิจเดิมที่เคยทำอยู่ จึงเข้าถึงซอฟต์โลนยาก เพราะสถาบันการเงิน นักวิเคราะห์ต่างมองว่า โลกของธุรกิจในบริบทใหม่จะไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิมแล้ว การปล่อยกู้ให้ธุรกิจที่ยังคาดการณ์ไม่ได้นั้น ความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้เสียก็สูงตามไปด้วย

“ตอนนี้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องยอมรับความเป็นจริงว่า การทำธุรกิจแบบเดิมนั้นไปไม่รอด เพราะ 2-3 ปีนับจากนี้นักท่องเที่ยวไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิม และต้องเข้าใจว่าวันนี้รัฐบาลไม่ได้มีงบประมาณมากพอที่จะอุ้มให้ผู้ประกอบการทุกเซ็กเตอร์รอดได้ทั้งหมด ดังนั้นวันนี้ ผู้ประกอบการทุกคนต้องคิดใหม่ ทำใหม่ และวางทิศทางธุรกิจตัวเองให้สอดรับกับบริษทใหม่ที่เป็นแนวโน้มในอนาคตด้วย” แหล่งข่าวย้ำ

รายได้ไหลเข้าสู่ระบบแค่ 10%

“ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) บอกว่า ด้วยสถานการณ์วันนี้ผู้ประกอบการอยู่ในภาวะย่ำแย่ มีรายได้เข้ามาหมุนเวียนกันอยู่ที่ราว 10% ของรายได้ของปี 2562 เท่านั้น พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด คือ จังหวัดท่องเที่ยวหลักอย่างภูเก็ต กระบี่ สมุย พังงา เชียงใหม่ พัทยา เป็นต้น โดยพบว่าตัวเลขลดลงไปอย่างชัดเจน แม้ว่าจะมีโครงการ”เราเที่ยวด้วยกัน” และโครงการ “กำลังใจ” พา อสม.เที่ยว ยืนยันว่าผู้ประกอบการมีตัวเลขนักเดินทางเข้าไปใช้บริการ แต่ตัวเลขกำไรต่ำมาก หรือแทบจะไม่มี

“ตอนนี้แม้จะมีการเปิดประเทศบ้าง แต่ธุรกิจโดยรวมแทบไม่ได้อานิสงส์ เพราะการเปิดประเทศครั้งนี้เป็นการแง้มประตูแค่นิดเดียว นักท่องเที่ยวเข้ามา 1,200 คนต่อเดือน รายได้ประมาณ12,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งยังห่างไกลตัวเลขช่วงปกติอย่างมาก” ชัยรัตน์ย้ำ

จึงมองว่าสถานการณ์ในขณะนี้ ยังคงกระตุ้นลำบาก และที่น่าห่วงคือ เมื่อไหร่ที่สิ้นมาตรการของรัฐ เอกชนจะยิ่งลำบาก คนจะเดินทางก็ต่อเมื่อเราพร้อม เหลือเงินจากการใช้จ่ายของครอบครัว ยืนยันว่าจากนี้ไปแม้จะเป็นไฮซีซั่นการเดินทางอาจจะมีอยู่บ้าง แต่มั่นใจว่าการใช้จ่ายยังไม่ขยับ

ธุรกิจ (ยัง) ไร้ทางออก

ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยยังให้ข้อมูลอีกว่า ที่ผ่านมาภาครัฐประชุมขอความคิดเห็นจากสมาคมท่องเที่ยวต่าง ๆ ซึ่งสมาคมต่าง ๆ ได้นำเสนอไปหมดแล้ว แต่ก็ไม่มีปฏิกิริยาตอบรับ ทุกวันนี้เรื่องการเยียวยาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ภาครัฐก็บอกว่ารัฐบาลมีลูกหลายคน ท่องเที่ยวเป็นลูกหนึ่งคนของรัฐบาล เขาจะดูแลลูกคนเดียวไม่ได้ แต่เราก็ยังยืนยันว่า ทุกวันนี้แต่ละสมาคมก็พยายามส่งหนังสือถึงนายกฯ (ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ซึ่งนายกฯก็รับหลักการ แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

“ตอนนี้เราคุยกันว่า ใน 13 สาขาอาชีพเราอาจต้องทำหนังสือจากทุกสมาคม และใส่ข้อเรียกร้องโดยสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไปขอเข้าพบนายกฯอีกครั้ง เพราะขณะนี้ธุรกิจยังไม่มีทางออก แต่เราก็ยังคงต้องเดินหน้าเรียกร้องต่อ”

พร้อมย้ำว่า ในระหว่างมาตรการรัฐเยียวยาจากทางภาครัฐนี้ ทุกสมาคมท่องเที่ยว ทุกบริษัทคิดตลอดว่าอยู่เฉย ๆไม่ได้ เพียงแต่ยังหาทางออกไม่เจอเพราะว่าวิกฤตโควิดนั้นเป็นสถานการณ์ที่ประเมินยากมากว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ต่างจากวิกฤตทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งทั้งหมดจะอยู่กับวิกฤตเพียงแค่ระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

prachachat.net/tourism/news-537680