อพท. เดินหน้าขับเคลื่อนสู่องค์กรประสิทธิภาพสูง ทบทวนแผนยุทธศาสตร์ตอบโจทย์การจัดตั้งองค์กร ทำงานมุ่งเป้า เกิดผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น เน้นโครงการเร่งด่วน Big Rock ที่นำไปสู่การลงทุนที่เกิดผลกระทบสูงทางเศรษฐกิจของพื้นที่พิเศษ ใช้กลไกการท่องเที่ยวกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก
พร้อมเดินหน้าพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานสากล แย้ม ปี 2566 เตรียมประกาศพื้นที่พิเศษอีก 2 แห่ง คือ คลองท่อม จ.กระบี่ และ เกาะคอเขา จ.พังงา
วันที่ 7 เมษายน 2566 นาวาอากาศเอกอธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เปิดเผยว่า
ปี 2566 อพท. ตั้งเป้าหมายดำเนินการใน 2 ภารกิจสำคัญ ได้แก่ ภารกิจหลัก มุ่งขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พร้อมดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) มุ่งการให้ความรู้ความเข้าใจกับทุกภาคส่วน เกี่ยวกับเครื่องมือในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท.
ทั้งหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์กรยูเนสโก (UCCN) การท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT) และโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG) รวมถึงการดำเนินการตามตัวชี้วัดของสำนักงาน ก.พ.ร.
โดยภารกิจเร่งด่วนจะให้ความสำคัญกับโครงการ Big Rock ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน การทบทวนแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (รายพื้นที่) ให้มีเป้าหมายสอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการประกาศพื้นที่พิเศษ แผนงานโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์พื้นที่ต้องเชื่อมโยงกับเป้าหมาย เน้นการลงทุนที่ที่เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจของพื้นที่ในระดับสูง บนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน
รวมทั้งส่งเสริมพื้นที่ที่ผ่านการพัฒนาจาก อพท. ให้ได้รับรางวัล หรือมาตรฐานระดับนานาชาติ อาทิ แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษฯ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
นอกจากนั้น ยังได้เตรียมการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง อพท.ให้เหมาะสมตามบริบทในการดำเนินงานของ อพท.ในปัจจุบัน และเพิ่มอำนาจในการบูรณาการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประสาน ส่งเสริม สนับสนุนให้มากยิ่งขึ้น เตรียมศึกษาศักยภาพพื้นที่เพื่อประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการหารายได้เพิ่มเติมจากทรัพย์สินและกิจกรรมสำคัญของ อพท.
ทั้งนี้ โครงการ Big Rock อพท.ได้ให้ความสำคัญกับโครงการที่จะขับเคลื่อนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ด้านเศรษฐกิจในระดับที่มีผลกระทบ (Impact) เกิดการจ้างงาน และกระจายรายได้อย่างยั่งยืน จัดทำโครงการที่จะทำให้มีรายได้กลับเข้ามาอย่างรวดเร็ว เพื่อนำไปเพิ่มในส่วนของงบพัฒนาของ อพท. ซึ่งเป็นโครงการที่ได้บรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ
ทั้งนี้ เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของแผนระดับ 3 ของ อพท. ตามบทบาทภารกิจขององค์กร เช่น โครงการก่อสร้างศูนย์แห่งความเป็นเลิศและแหล่งเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (ศูนย์ท่าโสม) การพัฒนาท่าเทียบเรือสลักเพชร จังหวัดตราด ศูนย์เรียนรู้และแสดงผลงานสร้างสรรค์ จังหวัดสุโขทัย และ Co-working Space/Creative Space จังหวัดเลย เป็นต้น
นอกจากนี้ ภารกิจสำคัญเร่งด่วนอีกอย่างหนึ่งของ อพท.คือ การทบทวนแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (รายพื้นที่) ให้สามารถเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่และส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ
โดยแผนยุทธศาสตร์ฯ ต้องสามารถเป็นกรอบบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างแท้จริง รวมถึงการส่งเสริมพื้นที่ที่ อพท.ดำเนินการพัฒนาแล้วเข้าสู่การประกวด เพื่อสร้างการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยปี 2566 เตรียมร่วมกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เพื่อรับรางวัลหรือมาตรฐานระดับชาติและนานาชาติ
รวมถึงการเตรียมศึกษาศักยภาพพื้นที่เพื่อประกาศเป็นพื้นที่พิเศษฯ อีก 2 แห่งคือ พื้นที่อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และพื้นที่เกาะคอเขา จังหวัดพังงา
ที่มา : Matichon