• Welcome to กระบี่วันนี้ ทุกเรื่องของจังหวัดกระบี่.
 

เที่ยวอยุธยาตามรอยออเจ้า ย้อนรอยประวัติศาสตร์ก่อนเสียกรุง

เริ่มโดย achieheng, พฤศจิกายน 13, 2023, 03:00:44 ก่อนเที่ยง

หัวข้อก่อนหน้า - หัวข้อถัดไป

achieheng

กลายเป็นกระแสดังอย่างเนื่อง กับละครเรื่องพรหมลิขิตซึ่งเป็นภาคต่อจากละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ละครที่แฝงความรู้ด้านประวัติศาสตร์ในยุคก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 ที่ทำให้หลายคนสนใจออกเดินทางท่องเที่ยวตามรอยประวัติศาสตร์ยุคก่อนเสียกรุง เพื่อให้ได้อรรถรสของการชมละครมากขึ้น จะมีที่ไหนน่าเที่ยวตามรอยออเจ้าได้บ้าง สินมั่นคงประกันภัยมีข้อมูลมาฝากค่ะ

1.   วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา
วัดไชยวัฒนารามเป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยมีการนำรูปแบบแผนผังของวัดมาจากนครวัด มีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลางตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส และมีปรางค์บริวารอยู่รายล้อม แล้วก็มีระเบียงคดภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยจำนวน 120 องค์

2.   วัดพุทไธศวรรย์ จ.พระนครศรีอยุธยา
วัดพุทไธศวรรย์ เป็นวัดเก่าแก่ที่มีประวัติการสร้างมาตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยา มีการวางผังตามความนิยมของวัดในสมัยอยุธยาตอนต้น ด้านข้างพระปรางค์ มีมณฑปเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ส่วนด้านหน้าก็มีพระวิหารขนาดใหญ่ตั้งอยู่ด้านหน้าพระประธาน ส่วนด้านหลังเป็นโบสถ์ วัดนี้เป็นอีกหนึ่งแห่งที่รอดพ้นจากการถูกเผาทำลายในช่วงการเสียกรุงครั้งที่ 2 เนื่องจากเป็นวัดที่อยู่นอกเมือง จึงทำให้ยังมีโบราณสถานและโบราณวัตถุหลงเหลือให้เห็น แม้ว่าจะมีบางส่วนพังทลายลงไปบ้าง

3.   วิหารพระมงคลบพิตร จ.พระนครศรีอยุธยา
วิหารแห่งนี้ภายในประดิษฐาน "พระมงคลบพิตร" พระพุทธรูปโบราณองค์ใหญ่ สันนิษฐานว่าเดิมประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ต่อมาได้มีการอัญเชิญมาไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ (จุดที่ประดิษฐานอยู่ในปัจจุบัน) และมีการสร้างมณฑปครอบไว้ ต่อมาได้รับความเสียหายเมื่อช่วงเสียกรุงครั้งที่ 2 แล้วจึงมีการบูรณะขึ้นมาใหม่ทั้งหมดจนกลายเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่สีทองอร่ามแบบที่เห็นในปัจจุบัน

4.   ป้อมเพชร จ.พระนครศรีอยุธยา
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักบรรจบกัน จุดนี้จะมีเรือสำเภาจากต่างชาติที่เข้ามาค้าขายกับอยุธยาจอดเรียงราย และบริเวณสามเปลี่ยมปากแม่น้ำนี้เอง ก็จะมีป้อมสำคัญตั้งอยู่ คือ "ป้อมเพชร" ถือเป็นป้อมที่มีขนาดใหญ่และมีสำคัญที่สุดในเชิงยุทธศาสตร์จากจำนวน 16 ป้อมที่อยู่รอบพระนคร เพราะเป็นประตูเมืองที่ป้องกันข้าศึกที่จะเข้ามาจากโลกภายนอก และยังเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่ใช้ติดต่อกับต่างชาติ

5.   หมู่บ้านโปรตุเกส จ.พระนครศรีอยุธยา
เป็นชุมชนของชาวโปรตุเกสที่เข้ามาค้าขายและอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ชาวโปรตุเกสถือเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาค้าขายในสมัยอยุธยา มีการเจริญสัมพันธไมตรีกันอย่างเป็นทางการ จากนั้น ชาวโปรตุเกสมีความดีความชอบในการเข้าร่วมสงคราม จึงได้รับพระราชทานที่ดินเป็นบำเหน็จรางวัล ให้ชาวโปรตุเกสมาตั้งบ้านเรือนและสร้างวัดถือศาสนาคริสต์ได้อย่างเสรี

ในหมู่บ้านโปรตุเกสยุคกรุงศรีอยุธยา จะมีโบสถ์ในคริสต์ศาสนาอยู่ 3 แห่ง คือ โบสถ์นักบุญเปรโตร คณะโดมินิกัน, โบสถ์คณะฟรานซิสกัน และ โบสถ์เซนต์เปาโล (คณะเยซูอิต) ในปัจจุบัน หากมาที่หมู่บ้านโปรตุเกสก็จะพบเพียงแค่ซากโบสถ์นักบุญเปรโตร คณะโดมินิกัน และบริเวณด้านหน้าโบสถ์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีการขุดค้นพบสุสานที่มีโครงกระดูกมนุษย์ฝังอยู่กว่า 200 โครง ซึ่งมีการจัดแสดงเป็นตัวอย่าง และมีนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับชุมชนชาวโปรตุเกสด้วย

6.   พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี
เนื่องจากในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่ 2 โดยได้เสด็จมาประทับที่ลพบุรีทุกปีครั้งละเป็นเวลานานหลายเดือน และช่วงปลายรัชกาลก็มักเสด็จมาประทับที่ลพบุรีเกือบจะตลอดทั้งปี จนกระทั่งเสด็จสวรรคต ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระราชวังแห่งนี้ถูกทิ้งร้าง มาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีการบูรณะพระราชวังเดิม และมีการสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ และมีการพระราชทานนามพระราชวังแห่งนี้ว่า "พระนารายณ์ราชนิเวศน์"

7.   บ้านหลวงรับราชทูต จ.ลพบุรี
เป็นที่รู้จักกันในชื่อ "บ้านวิชาเยนทร์" ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อคราวรับราชทูตฝรั่งเศส โดยระหว่างที่ไม่มีคณะทูต ก็ได้โปรดให้ออกญาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) เป็นผู้ดูแลหมู่ตึกนี้ จึงทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นบ้านของออกญาวิชาเยนทร์ ซึ่งภายในพื้นที่หมู่ตึกนี้ มีทั้งโบสถ์ในศาสนาคริสต์ ผังโบสถ์เป็นแบบยุโรปแต่มีซุ้มประตุหน้าต่างเป็นซุ้มเรือนแก้ว มีบัวปลายเสาเป็นรูปกลีบบัวยาว ซึ่งเป็นศิลปะแบบไทย แล้วก็ยังมีที่พักอาศัย ห้องจัดเลี้ยง โรงครัว ฯลฯ

8.   พระปรางค์สามยอด จ.ลพบุรี
อีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญของเมืองลพบุรี มีลักษณะเป็นพระปรางค์เรียงต่อกันสามองค์ มีฉนวนทางเดินเชื่อมต่อกัน โดยองค์พระปรางค์นี้เป็นศิลปะเขมรแบบบายน สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 18 สร้างด้วยศิลาแลงและตกแต่งลวดลายปูนปั้นสวยงาม เดิมสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถานของขอมในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ต่อมาดัดแปลงเป็นเทวสถาน โดยมีฐานศิวลึงค์ปรากฏอยู่ด้านในองค์พระปรางค์ จนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงได้มีการบูรณะให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนา แล้วสร้างพระวิหารก่อด้วยอิฐ ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาผสมแบบยุโรปในส่วนของประตูและหน้าต่าง ปัจจุบันยังคงประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง

เที่ยวสไตล์ไหนก็ปลอดภัย ด้วยประกันภัยการเดินทาง (TA) ที่ให้ความคุ้มครองอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางของผู้เอาประกันภัยซึ่งอยู่ระหว่างการท่องเที่ยวทั้งแบบในประเทศและต่างประเทศ ด้วยเบี้ยเริ่มต้นเพียง 16 บาท ทุนประกัน 100,000 - 1,000,000 บาท สนใจรายละเอียด คลิก www.smk.co.th/productpadetail/3 หรือ โทร. 1596 ตลอด 24 ชั่วโมง  Line : smkinsurance และสามารถติดตามเนื้อหาสาระดีๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://smkinsurance.blogspot.com