คัดค้านสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

  • 0 replies
  • 5645 views
คัดค้านสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
« เมื่อ: มิถุนายน 16, 2014, 08:59:14 AM »
สำหรับข่าวกระบี่วันนี้ ขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ กลุ่มกรีนพีซ สมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงผู้ว่า กฟฝ. ให้สั่งเบรกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และโครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินกระบี่ พร้อมนำข้อเสนอให้ทบทวนทางเลือกการผลิตไฟฟ้าที่ยั่งยืน โปร่งใสและเป็นธรรมในพื้นที่ต่อไป

โดยเนื้อความในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวมีดังนี้

วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน 2557

จดหมายเปิดผนึกถึงผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

เรื่อง หยุดเร่งรัดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและโครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินกระบี่เข้าสู่การพิจารณา ของคณะกรรมนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช) ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) และทบทวนทางเลือกการผลิตไฟฟ้าที่ยั่งยืน โปร่งใสและเป็นธรรมในพื้นที่ !

ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)มีคำสั่งแต่งตั้งคณะ กรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (คำสั่งฉบับที่ 54/2557) โดยให้มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะนโยบายพลังงานต่อ คสช. กำหนดหลัก เกณฑ์และเงื่อนไขให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงาน ติดตามดูแล ประสาน สนับสนุนและเร่งรัดงาน ทั้งในส่วนราชการ เอกชนและรัฐวิสาหกิจเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศ รวมทั้งประเมินผล การปฎิบัติงานตามนโยบายพัฒนาพลังงานของประเทศนั้น ทางกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินซึ่งประกอบด้วย กลุ่มและองค์กรตามรายชื่อท้ายจดหมายนี้ในฐานะ ภาคประชาสังคม ขอเรียกร้องต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ในฐานะเจ้าของโครงการโรง ไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ ดังนี้

1) หยุดเร่งรัดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและโครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินที่ จังหวัดกระบี่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่แต่ง ตั้งขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พร้อมกันนี้ ให้ยุติการดำเนินกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และการรับฟังความคิดเห็นประชาชนด้วยเหตุที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงให้ เห็นว่ากระบวนการดังกล่าวขาดความโปร่งใสตรวจสอบได้และสร้างความขัดแย้งทาง สังคมขึ้นในพื้นที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ควรนำผลการไต่สวนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกรณีการละเมิดสิทธิชุมชน ในพื้นที่จากกระบวนการดังกล่าวมาพิจารณาเป็นบทเรียนในการบริหารจัดการตามแนว ทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามหลักสากลและมีการบริหารงานเป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพโปร่งใส เป็นธรรม คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน

2) แม้จะมีข้ออ้างมาโดยตลอดว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ตลอดจนโครงสร้าง พื้นฐานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหิน นั้นสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan) โดยระบุว่าเป็นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหิน สะอาดในภาคใต้และเพื่อสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศและเสริมความมั่นคง ของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ ตลอดจนสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิง แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ต้องยอมรับความจริงที่ว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ PDP2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 สะท้อนถึงกระบวนการวางแผนพลังงานที่เป็นปัญหาถึงขั้นวิกฤต การเลือกสร้างโรงไฟฟ้าจำนวนมากที่ก่อมลพิษ สร้างความขัดแย้ง มีต้นทุนและความเสี่ยงสูง แทนที่จะเป็นทางเลือกอื่นๆ ที่ปลอดภัยกว่า สะอาดกว่า และสมเหตุสมผลในทางเศรษฐกิจนั้นขัดกับนโยบายด้านพลังงานของประเทศไทยและยัง ขัดกับผลประโยชน์ของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอีกด้วย

3) เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัด กระบี่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาและส่งเสริมการลงทุนพลังงาน หมุนเวียนที่สะอาดและปลอดภัยในทุกระดับ จังหวัดกระบี่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานหมุนเวียนมากที่สุดพื้นที่หนึ่งใน ภาคใต้สามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ได้ ถึงร้อยละ 100 ภายใน 4 ปีข้างหน้า หากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯในฐานะรัฐวิสาหกิจชั้นนำในภาคการไฟฟ้าริเริ่มนำแผน อนุรักษ์พลังงานปี พ.ศ. 2554-2573 และแผนพัฒนาพลังงานทางเลือกปี พ.ศ. 2555-2564 มาปฏิบัติใช้อย่างจริงจังและมีส่วนเร่งผลักดันกลไกที่มีประสิทธิภาพ เช่น กฎหมายพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่เกิดขึ้นที่กระบี่และในประเทศไทย

ทางกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินมีความยินดีอย่าง ยิ่งที่จะเข้าพบผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เพื่อปรึกษาหารือถึงรายละเอียดในการจัดการวางแผนระบบการผลิตไฟฟ้าที่เป็น ธรรม โปร่งใส และยั่งยืนสำหรับจังหวัดกระบี่และในภาพรวมของประเทศไทยในวันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน 2557 ในเวลาตามที่ท่านสะดวก

ด้วยความนับถือ

ธารา บัวคำศรี
ผู้อำนวยการรณรงค์กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตัวแทนเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน



กลุ่มเครือข่ายกระบี่ หรือ เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินประกอบด้วย

1. กลุ่มรักลันตา
2. กลุ่มพิทักษ์ปกาสัย
3. สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวลันตา
4. สมาคมผู้ประกอบการโรงแรมเกาะลันตา
5. มูลนิธิอันดามัน
6. ศูนย์สร้างเสริมจิตสำนึกนิเวศวิทยา
7. กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
8. สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย
9. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้(กปอพช.)
10. โครงการปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารชายฝั่งภาคใต้
11. กลุ่มรักตรังปกป้องตรัง
12. กลุ่มรักษ์อันดามัน
13. กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมปกาสัย จังหวัดกระบี่
14. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัดกระบี่
15. เครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดกระบี่
16. องค์การความร่วมมือเพื่อการ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน
17. เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านอ่าวพังงา อันดามัน
18. เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ
19. เครือข่ายติดตามผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตำบลเขาหินซ้อน
20. มูลนิธินโยบายสุขภาวะ
21. เครือข่ายถ่านหิน ประเทศไทย
22. เครือข่ายถ่านหินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำเนาจดหมายเปิดผนึกส่งถึง คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน