ทอดน่องล่องโขง ชมวัด ตามรอยนาคาที่ มุกดาหาร

  • 0 replies
  • 966 views
องค์พญานาคราชย้ำ    ร่มเย็น
วีระภุชงค์ เห็น       โลกร้อน
คุณธรรมจึ่งจำเป็น      เปลี่ยนโลกย์
ธรรมะไม่ซับซ้อน      หากซึ้งธรรมคุณ

เป็นวรรคทองเกี่ยวกับ “พญานาค” ที่ขรรค์ชัย บุนปาน ประพันธ์ มอบให้แก่ สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 เมื่อสถาบันโพธิคยาฯ ดำริจัดสร้างรางวัล “โพธิคยานาคาธิบดี” ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เป็นรางวัลมอบให้กับผู้ทำคุณประโยชน์อุทิศตนทุ่มเททำงานสนับสนุนส่งเสริมและเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เปรียบเหมือนพญานาคราชในสมัยพุทธกาลที่คอยปกปักรักษาพระพุทธศาสนา

งานมอบรางวัลปีนี้เป็นปีแรก จัดขึ้นที่สวนสาธารณะแก่งกะเบา ริมฝั่งแม่น้ำโขง อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร ที่ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นดินแดนพญานาคแห่งลุ่มน้ำโขง ทั้งยังเป็นจังหวัดที่มีรูปปั้นพญานาคใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

เมื่อเสร็จสิ้นงานมอบรางวัล เป็นโอกาสที่จะได้ลัดเลาะชายขอบท่องริมโขง พรมแดนด้านมุกดาหารที่มีความยาวถึง 70 กิโลเมตร มองเห็นฝั่งตรงข้ามคือแขวงสุวรรณเขต สปป.ลาว


แก่งกะเบา อำเภอหว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร ฝั่งตรงข้ามเป็นแขวงสุวรรณเขต สปป.ลาว

ชื่อ‘มุกดาหาร’มาจากเมืองหาดมีแก้ว

ทำความรู้จัก “มุกดาหาร” ก่อนชมวัดวา ตามที่ปรากฏในบันทึกการเสด็จตรวจราชการมณฑลอุดรของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ ร.ศ.125 (พ.ศ.2449) ทรงบันทึกเมื่อไปถึงเมืองมุกดาหารว่า

“ลำน้ำโขงตอนที่ตั้งเมืองมุกดาหารนี้ ตรงหน้าเมืองมีหาดใหญ่เป็นหาดกรวด กล่าวกันว่าที่หาดนี้มีแก้ว จึงเอามาเป็นชื่อเมือง มุกดาหาร…” เป็นที่มาของชื่อเมือง อย่างไรก็ตาม ชื่อเมืองมุกดาหารก็ยังมีอีกหลายตำนาน

หากย้อนกลับไปดูประวัติการก่อตั้งจังหวัด มุกดาหารเคยเป็น “เมือง” มาก่อนถึง 173 ปี ก่อนถูกยุบเป็นอำเภอขึ้นกับเมืองนครพนม ราชการเปิดที่ว่าการอำเภอเมืองมุกดาหาร เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2450 พอถึง พ.ศ.2459 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศให้ใช้คำว่า “จังหวัด” แทน “เมือง” เมืองนครพนมจึงเปลี่ยนเป็น จังหวัดนครพนม ส่วนอำเภอเมืองมุกดาหาร ก็เปลี่ยนเป็น อำเภอมุกดาหาร ตัดคำว่า “เมือง” ออก แล้วให้ขึ้นกับจังหวัดนครพนม สังกัดมณฑลอุดร กระทั่ง พ.ศ.2525 จึงได้แยกออกจากจังหวัดนครพนม และยกฐานะเป็นจังหวัดมุกดาหารถึงปัจจุบัน

พื้นที่แถบลุ่มน้ำโขงรวมทั้งในเขตจังหวัดมุกดาหาร ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์มีมนุษย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ยืนยันได้จากแหล่งโบราณคดีนายกองคูณริมฝั่งโขง อำเภอดอนตาล กลองมโหระทึก หรือภาพเขียนสีที่ผนังถ้ำฝ่ามือแดง ถ้ำตีนแดง เป็นต้น บริเวณแถบนี้ต่อมาเคยเป็นดินแดนของอาณาจักรฟูนัน

ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 5-11 แล้วเป็นดินแดนของอาณาจักรเจนละ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-14 เปลี่ยนเป็นดินแดนของขอมตั้งแต่พุทธศตวรรษที่
14-18 เมื่อขอมเสื่อมอำนาจในพุทธศตวรรษที่ 19 เจ้าฟ้างุ้มได้รวบรวมหัวเมืองน้อยใหญ่แถบลุ่มน้ำโขงตั้งขึ้นเป็นอาณาจักรศรีสัตนาคนหุตล้านช้าง ตั้งแต่ พ.ศ.1896
มาถึงปัจจุบัน

เมื่อการท่องเที่ยวกลายเป็นเครื่องยนต์หลักของประเทศสร้างรายได้มหาศาลมากกว่าเครื่องยนต์ตัวอื่นๆ มุกดาหารจึงกลายเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญของอีสานไป เพราะนอกจากจะมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติสวยงามแล้ว การที่ตั้งอยู่ริมน้ำโขงยังเป็นประตูสู่อินโดจีน มีเส้นทางที่สามารถเดินทางไปยังเมืองดาลัด ประเทศเวียดนามได้อีกด้วย


สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่มุกดาหาร เชื่อว่าเสาต้นที่ 2 ของสะพาน เป็นทางขึ้น-ลงไปเมืองพญานาค

ใต้น้ำโขงที่มุกดาหาร คือเมืองบาดาลพญานาค


พญาอนันตนาคราช หรือพญานาคน้ำ ลำตัวเป็นสีดำ ตั้งอยู่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว


พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช หรือพญานาคดิน ลำตัวเป็นสีขาวมุก ตั้งอยู่ที่แก่งกะเบา


พญาศรีมุกดามหามุนีนีลปาลนาคราช หรือพญานาคฟ้า เป็นรูปปั้นพญานาคที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่บนภูมโนรมย์

จังหวัดในภาคอีสานที่อยู่ติดแม่น้ำโขงมักมีความเชื่อและศรัทธาเกี่ยวกับพญานาค มุกดาหารก็เช่นกัน เชื่อกันว่าใต้น้ำโขงบริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 นั้น เป็นเมืองบาดาลของพญานาค โดยมี “เสาต้นที่ 2” ของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เป็นทางขึ้น-ลงไปถ้ำเมืองบาดาล และเป็นจุดที่พญานาคใช้ขึ้นมายังโลกมนุษย์ ด้วยความเชื่อดังที่กล่าว ชาวมุกดาหารจึงสร้าง “นาค 3 พิภพ” กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ มีตั้งแต่ “พญาศรีภุชงค์มุกดานาคราช” หรือพญานาคดิน (ปฐพีพิภพ) เป็นพญานาคสีขาวมุก ตั้งอยู่บริเวณแก่งกะเบา อำเภอหว้านใหญ่ ถัดมาเป็น “พญาอนันตนาคราช” หรือพญานาคน้ำ (บาดาลพิภพ) เป็นพญานาคสีดำเลื้อยพันรอบเสาสูงหันหน้าไปทางแม่น้ำโขง ตั้งอยู่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 สุดท้าย “พญาศรีมุกดามหามุนีนิลปาลนาคราช” หรือพญานาคฟ้า (สวรรค์พิภพ) ตั้งอยู่บนภูมโนรมย์ ในวัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์ ลำตัวมีสีเขียวอมฟ้า หันหน้าไปทางแม่น้ำโขงเช่นกัน นาคองค์นี้ถือเป็นรูปปั้นพญานาคที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วย

ที่แก่งกะเบา อำเภอหว้านใหญ่ ถือเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจขึ้นชื่อของชาวเมืองมุกดาหารและนักท่องเที่ยว มองเห็นลำน้ำโขงทอดยาวกั้นระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว แก่งหินแถบนี้ถูกน้ำกัดเซาะเป็นรูปร่างแปลกตาสวยงาม บ้างเป็นหลุมลึก บ้างลดหลั่นเป็นชั้นๆ มีโพรงคล้ายถ้ำเตี้ยๆ หน้าแล้งน้ำลดยิ่งเห็นแก่งหินเป็นบริเวณกว้าง หน้าร้อนผู้คนหลั่งไหลไปเล่นน้ำคลายร้อน ที่นี่จึงเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กของการไปเยือนมุกดาหาร


พระประธานปางมารวิชัย รายล้อมด้วยฮูบแต้มเล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดกภายในสิมโบราณ วัดพระศรีมหาโพธิ์

ห่างจากแก่งกะเบาไปไม่ไกลมากเป็นที่ตั้งของ“วัดพระศรีมหาโพธิ์” ตั้งอยู่ริมน้ำโขง เป็นวัดโบราณคู่บ้านคู่เมืองมุกดาหาร บริเวณวัดโดยเฉพาะริมแม่น้ำยังขาดการจัดการที่ดี ทั้งที่เป็นจุดชมวิวริมโขงที่สวยอีกจุดหนึ่ง ในวัดมีโบราณสถานสำคัญ คือ “สิมโบราณ” หรือโบสถ์แบบอีสาน

คำว่า “สิม” มาจากคำว่า “สีมา” ลาวก็เรียกอุโบสถว่าสิมเหมือนกับคนอีสาน

สิมนี้สร้างเมื่อ พ.ศ.2459 สถาปัตยกรรมไทยผสมตะวันตก ฝรั่งเศส และเวียดนาม ผนังทึบทั้งสามด้าน เข้า-ออกด้านหน้าทางเดียว ภายในสิมมีพระประธานปางมารวิชัยตั้งบนฐานชุกชี องค์พระฝังเข้าไปในผนัง ที่ผนังด้านขวามีรูปแต้ม (ฮูปแต้ม) เล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก ฝีมือช่างพื้นบ้านงดงาม ผนังด้านซ้ายเป็นภาพเหตุการณ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจหัวเมืองในมณฑลอุดร และได้เสด็จมาที่มุกดาหาร ส่วนขื่อ คานด้านบนของสิมเป็นไม้ท่อนใหญ่แกะสลักลายดอกไม้สวยงาม โบสถ์แห่งนี้ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปด้านใน ในวัดยังมีอาคารสำคัญอีกแห่ง คือ “ที่ว่าการอำเภอหว้านใหญ่” หลังเดิม ปัจจุบันไม่ใช้งานแล้ว ระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ.2467-2470 โดยช่างญวนที่มาบวชในวัด ตัวอาคารเป็นทรงตึกฝรั่ง 2 ชั้น หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้องดินเผา มีตราครุฑหน้าเป็นคนที่หน้าจั่ว ปัจจุบันกำลังจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์ด้านศาสนาและบอกเล่าวิถีชีวิตชาวบ้าน




พระเจ้าใหญ่แก้วมุกดาศรีไตรรัตน์ ความสูง 59.99 เมตร

วัดต่อมาที่พลาดไม่ได้ “วัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์” อยู่บนภูมโนรมย์ ในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ มีทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุ นอกจากโบสถ์ศิลปกรรมแบบเขมร ไทย ลาว ผสมกันแล้ว ยังมีรอยพระพุทธบาทโบราณ (จำลอง) และเป็นที่ตั้งแลนด์มาร์กแห่งที่สอง ยิ่งใหญ่อลังการกว่าที่ใดๆ คือรูปปั้น “พญาศรีมุกดามหามุนีนีลปาลนาคราช” พญานาคฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในไทย พญานาคองค์นี้เป็นนาคเศียรเดียว สร้างในรูปแบบเลื้อยขดไปขดมาขนาดยาว 122 เมตร สูงประมาณ 20 เมตร หันหน้าไปทางแม่น้ำโขง ผู้ออกแบบคือ ประพัฒน์ มะนิสสา ศิลปินปูนปั้นพื้นบ้านชาวอุบลราชธานี ผู้ศรัทธาในพญานาคอย่างมาก ที่นี่กลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของบรรดาสายมู ต้องมาลอดท้องพญานาคเพื่อขอพรและโชคลาภ นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปชมวิวฝั่ง สปป.ลาว ได้แบบ 360 องศา ด้านบนสุดของภูมโนรมย์ผู้คนนิยมไปไหว้สักการะ พระเจ้าใหญ่แก้วมุกดาศรีไตรรัตน์ ที่มีความสูงถึง 59.99 เมตร รวมความสูงจากฐานถึงยอดเศียร 84 เมตร


ฮูปแต้มภาพสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจหัวเมืองมณฑลอีสาน


ภาพเหตุการณ์เมื่อครั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เสด็จเมืองมุกดาหารบริเวณแก่งกะเบา


รูปปั้นหนึ่งในผู้ร่วมสร้างเมืองมุกดาหาร ในวัดรอยพระพุทธบาทภูมโนรมย์

ขับเคลื่อนมุกดาหารด้วยการท่องเที่ยว

วัดในมุกดาหารไม่ได้มีเท่าที่กล่าวนี้ แต่ยังมีอีกหลายวัดล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทำให้มุกดาหารเป็นจังหวัดชายแดนแห่งสำคัญด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ผู้คนนิยมเดินทางไปมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เฉพาะแต่เรื่องพญานาค แต่ยังโดดเด่นด้านความหลากหลายของเชื้อชาติที่มีถึง 8 ชนเผ่าพื้นเมือง
เป็นจุดศูนย์รวมวัฒนธรรมที่หลากหลายที่กลายมาเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้นักเที่ยวต้องไปเยือน

กรรณิการ์ ฉิมสร้อย มติชนออนไลน์