ผลิตก๊าซชีวภาพใช้เองที่เกาะปอ

  • 0 replies
  • 5524 views
ผลิตก๊าซชีวภาพใช้เองที่เกาะปอ
« เมื่อ: กรกฎาคม 25, 2014, 11:02:31 AM »
ข่าวกระบี่วันนี้นำเสนอเกี่ยวกับ โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากของเสียในครัวเรือนชุมชน บนเกาะปอ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ซึ่งได้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  (กฟผ.)  กับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยา เขตพัทลุง

ได้ทำการค้นคว้าวิจัยการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ ร่วมกับศูนย์การเรียนรู้พลังงานทางเลือกเพื่อสุขภาพชุมชนภาคใต้

สำหรับโครงการดีๆ แบบนี้ มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือชุมชนบนเกาะห่างไกลทางภาคใต้ ให้มีพลังงานหมุนเวียนจากการใช้ทรัพยากร มุ่งเน้นเรื่องระบบก๊าซชีวภาพครัวเรือน ที่ชาวชุมชนรู้จักกันในนาม ก๊าซทำมือ และส่งเสริมการพัฒนาชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง โดย ผศ.ดร.อุษา อ้นทอง อาจารย์วิกาญดา ทองเนื้อแข็ง และกลุ่มนิสิตอาสาก๊าซชีวภาพ มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นคณะในการดำเนินโครงการ

รายงานเพิ่มเติมจากทีมข่าวกระบี่ว่า สำหรับการดำเนินโครงการนี้ จะเป็นการนำของเสียจากเศษอาหารครัวเรือน เศษขยะอินทรีย์จากการทำประมงที่นำไปทิ้งลงทะเลมาหมักเป็นก๊าซหุงต้ม โดย กฟผ. สนับสนุนงบประมาณ เป็นระบบบ่อหมักก๊าซชีวภาพ ที่ใช้เทคโนโลยีการบำบัดของเสียอินทรีย์แบบไร้อากาศ  ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่ให้ก๊าซชีวภาพเป็นผลพลอยได้


ก๊าซชีวภาพเป็นก๊าซผสมที่ประกอบด้วยก๊าซมีเทน (CH4) 60-70% ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 28-38% และก๊าซอื่นๆ ได้แก่ ก๊าซไฮโดรเจน (H2) ก๊าซไนโตรเจน (N2) และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟต์ (H2S) เป็นต้น

วิธีการผลิตก๊าซชีวภาพจากเศษอาหารนี้ ภายหลังจากเตรียมถังเรียบร้อยแล้วก็นำมูลวัว จำนวน 18 ลิตร ผสมกับน้ำสัดส่วนเท่า ๆ กัน ใส่ในถังพลาสติกขนาด 200 ลิตร โดยถังนี้จะเจาะท่อด้านล่างเพื่อระบายกากอาหาร และเจาะท่อด้านบนเพื่อระบายน้ำหมัก รวมทั้งมีท่อต่อไปยังถังพลาสติกขนาด 200 ลิตร ที่ใช้ในการเก็บก๊าซชีวภาพ หลังจากที่หมักมูลวัว 1 สัปดาห์ก็ใส่เศษอาหารที่เหลือจากการบริโภคลงไปในถังวันละไม่เกิน  2 ลิตร เพื่อให้จุลินทรีย์ในถังทำการย่อยสลายเศษอาหารเหล่านี้ จนเกิดก๊าซระบายตามท่อไปสู่ถังเก็บก๊าซ ที่มีท่อต่อไปยังเตาหุงต้ม เพื่อใช้ในการประกอบอาหาร โดยก๊าซชีวภาพจะเริ่มเกิดอย่างคงที่หลังจากเริ่มใส่เศษอาหาร 2 สัปดาห์

นายโชคดี ระโสยบุตร และนางโอภา บ่อหนา สองสามีภรรยาอาชีพประมงชายฝั่ง เล่าให้ข่าวกระบี่ฟังว่าตนเป็นครัวเรือนแรก ๆ ที่เข้าร่วมโครงการนี้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 โดยบอกว่าปัจจุบันตนมีถังหมัก 2 ถังและถังเก็บก๊าซ 2 ถัง มีปริมาณก๊าซเพื่อใช้หุงต้มในครัวเรือนได้อย่างเพียงพอและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อก๊าซหุงต้ม ได้เป็นอย่างดี และรอบ ๆ บ้านก็ไม่มีของเสียให้เกิดแมลงอีกด้วย

โครงการนี้ถือเป็นประโยชน์เยอะ ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในบ้าน เศษน้ำหมักก็เป็นปุ๋ยชีวภาพใช้รดต้นไม้ พืชผักที่ปลูกริมบ้าน และ เศษปลาเศษปูที่ติดมากับอวนที่ผ่านมาต้องแกะทิ้งทะเล ตอนนี้เอามาใส่ถังหมัก ทำให้ก๊าซมีพลังงานมากขึ้น

ที่มา www.dailynews.co.th